“ทำไมต้องโปะหนี้บ้านด้วย เราก็ผ่อนไปตามที่แบงก์กำหนดไปเรื่อยๆ ก็ดีอยู่แล้ว”
“แค่ผ่อนบ้านเดือนละหมื่นบาทต้นๆ ก็แทบไม่เหลือกินเหลือใช้แล้ว จะให้โปะเพิ่มอีกเหรอ”
“คนอื่นก็ไม่เห็นจะโปะเลย”
ประเด็นหนึ่งที่หลายคนใช้เพื่อตัดสินใจกู้เงินซื้อบ้าน คือ อยากได้ระยะเวลาในการผ่อนชำระให้ยาวนานที่สุด ถ้าผ่อนได้ 30 ปียิ่งดี เพราะว่าจะได้ผ่อนในแต่ละเดือนไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม หากดูรายละเอียดในใบแจ้งหนี้แต่ละเดือน พบว่าจำนวนดอกเบี้ยสูงกว่าเงินต้น เช่น ผ่อนต่อเดือนรวม 15,000 บาท แบ่งเป็นดอกเบี้ยเท่ากับ 9,000 บาท เงินต้นเท่ากับ 6,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะหนี้บ้านเป็นแบบลดต้น ลดดอก ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นผ่อน เมื่อยอดเงินกู้อยู่ระดับสูง ดอกเบี้ยก็สูงตามไปด้วย และดอกเบี้ยจะลดลงเมื่อยอดหนี้ลดลง ซึ่งกว่าดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเงินต้นก็เหลือระยะเวลาผ่อนอีกไม่กี่ปี นั่นหมายความว่า ยิ่งกู้นาน ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยยิ่งสูง
ตัวอย่าง
นาย ก. เหลือเงินที่ต้องผ่อนบ้าน 2,000,000 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี ดอกเบี้ยเงินกู้ 6%
จากตัวอย่าง นาย ก. ต้องผ่อนบ้านเดือนละ 14,329 บาท และตลอดสัญญา 20 ปี เขาต้องจ่ายเงินทั้งหมด 3,438,869 บาท ในจำนวนนี้คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด 1,438,869 บาท
พูดง่ายๆ ยอดเงินกู้ซื้อบ้าน 2,000,000 บาท แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 1,438,869 บาท
สมมติว่า นาย ก.คิดจะโปะหนี้ คือ ผ่อนบ้านในแต่ละเดือนมากกว่าอัตราขั้นต่ำที่แบงก์กำหนด หมายความว่า ผ่อนมากกว่าเดือนละ 14,329 บาท (ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้กู้)
เหตุผลที่โปะหนี้ คือ ต้องการประหยัดดอกเบี้ยและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
ตัวอย่าง 1
นาย ก. ตัดสินใจเพิ่มเงินผ่อนบ้านต่อเดือนจาก 14,329 บาท เป็น 15,329 บาท (โปะหนี้เดือนละ 1,000 บาท)
จากตัวอย่าง นาย ก. จะประหยัดดอกเบี้ยได้ 191,443 บาท และปลดหนี้ได้เร็วขึ้น 2 ปี 4 เดือน
ตัวอย่าง 2
นาย ก. ตัดสินใจเพิ่มเงินผ่อนบ้านต่อเดือนจาก 14,329 บาท เป็น 16,329 บาท (โปะหนี้เดือนละ 2,000 บาท)
จากตัวอย่าง นาย ก. จะประหยัดดอกเบี้ยได้ 335,762 บาท และปลดหนี้ได้เร็วขึ้น 4 ปี 1 เดือน
ตัวอย่าง 3
นาย ก. ตัดสินใจเพิ่มเงินผ่อนบ้านต่อเดือนจาก 14,329 บาท เป็น 18,329 บาท (โปะหนี้เดือนละ 4,000 บาท)
จากตัวอย่าง นาย ก. จะประหยัดดอกเบี้ยได้ 540,248 บาท และปลดหนี้ได้เร็วขึ้น 6 ปี 9 เดือน
เพียงแค่เพิ่มเงินผ่อนบ้านพันบาทต้นๆ นอกจากจะประหยัดดอกเบี้ยได้เป็นแสนบาท ในอีกมุมหนึ่งยังประหยัดเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายให้แบงก์ได้อีก เช่น โปะหนี้เพิ่มเดือนละ 1,000 บาท สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น 2 ปี 4 เดือน (28 เดือน) หมายถึงมีเงินในกระเป๋า 401,212 บาท (14,329 x 28) หรือถ้าโปะเดือนละ 2,000 บาท สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น 4 ปี 1 เดือน (49 เดือน) หมายถึงมีเงินในกระเป๋า 702,121 บาท (14,329 x 49)
คิดต่อไปอีก หากนำเงิน 401,212 บาท เป็นจุดเริ่มต้นลงทุน จากนั้นก็ใส่เงินลงทุน 5,000 บาทต่อเดือน สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 6% ผ่านไป 10 ปี (120 เดือน) เงินจะงอกเงยเป็น 1,549,361 บาท
การโปะหนี้บ้าน ไม่เพียงได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยลดและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
ยังสามารถนำเงินไปแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้อีกด้วย
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใดผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา : www.set.or.th
ฐิติเมธ โภคชัย ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น