จากเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ มีผู้ประสบภัยหลายคนต้องประสบปัญหาถึงความสูญเสียโดยเฉพาะทรัพย์สินชิ้นใหญ่อย่าง “บ้าน” แต่เมื่อต้องเผชิญกับน้ำท่วมแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
“บางกอก แอสเซทฯ” ขอแนะนำ "ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัย" ตัวช่วยรับมือเมื่อน้ำท่วมบ้านที่ช่วยให้เจ็บตัวน้อยที่สุด จะมีกี่แบบ และคุ้มครองเงื่อนไขไหนบ้างมาดูกันครับ
ทำประกันภัยอย่างไร ให้ครอบคลุม "น้ำท่วมบ้าน"
การทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเมื่อได้รับผลกระทบจาก "น้ำท่วม" แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ประกันอัคคีภัย และประกันภัยพิบัติ
"ประกันอัคคีภัย" เป็นการทำประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยที่กฎหมายบังคับให้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ทำเพื่อป้องกันภัยจากไฟเป็นหลัก โดยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองในระยะสั้น เช่น 1 ปี หรือ 2-3 ปี ค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและลักษณะของอาคาร โดยจะให้ความคุ้มครองภัย 6 อย่าง ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน และภัยเนื่องจากน้ำ
แต่เงื่อนไขของ "ภัยเนื่องจากน้ำ" ณ ทีนี้ ครอบคลุมแค่กรณีภัยหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากน้ำเท่านั้น เช่น น้ำรั่ว น้ำไหลล้นจากท่อน้ำ ถังน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางท่ออากาศที่ชำรุด โดยไม่รวมถึง "ภัยน้ำท่วม" ที่เป็นภัยธรรมชาติ และท่อประปาที่แตกจากนอกอาคาร ดังนั้น การทำประกันอัคคีภัยจึงไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันความเสียหาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ "น้ำท่วม"
"น้ำท่วม" ในกรมธรรม์ประกันภัย หมายถึง น้ำซึ่งไหลล้นหรือไหลออกจากทางน้ำปกติซึ่งจะเป็นทางน้ำธรรมชาติ หรือจะเป็นทางน้ำที่สร้างขึ้น (ไม่รวมถึงรางน้ำบนหลังคา) หรือเกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก ทำให้เกิดการท่วมของน้ำจากภายนอกของอาคารที่เอาประกันภัยไว้ หรืออาคารที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ รวมถึงน้ำท่วมอันเกิดจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม
สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมไปถึงกรณีน้ำท่วมบ้านที่เป็นภัยธรรมชาติ รวมถึงภัยจากน้ำที่เกิดขึ้นภายนอกตัวบ้าน สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับคุ้มครองกรณี "น้ำท่วม" ดังนั้นการทำประกันภัยที่อยู่อาศัยจะครอบคลุมน้ำท่วมได้ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขของประกันภัยแพ็คเกจนั้นๆ ระบุว่าคุ้มครอง "ภัยน้ำท่วม" ด้วยเท่านั้น
ประกันภัยพิบัติคุ้มครองอะไรบ้าง
กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ โดยคำจำกัดความของคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เข้าลักษณะความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ ดังนี้
- คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ
- กรณีค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือ
- กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือ
- กรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
ความคุ้มครองของประกันภัยบ้านประเภทนี้ จะเป็นแบบจำกัดความรับผิด (Sub limit) หมายความว่า ไม่สามารถซื้อความคุ้มครองได้เต็มมูลค่าของบ้าน โดยอัตราเบี้ยประกันภัยไม่เกิน 0.5% ของความคุ้มครองต่อปี ทั้งนี้ หากต้องการความคุ้มครองมากกว่า 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันอาจสูงกว่า 0.5% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท ซึ่ง ประกันภัยพิบัติ จะเป็นประกันที่ตรงจุดสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองจาก "ภัยน้ำท่วม" โดยเฉพาะ
ประกันที่อยู่อาศัย เพิ่มเติมกรณีน้ำท่วม คุ้มครองทรัพย์สินใดบ้าง
ประกันภัยที่อยู่อาศัย แต่ละแพ็คเกจมีความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รวมถึงจำนวนเบี้ยประกันที่ต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะคุ้มครอง 2 ส่วนหลัก คือ "สิ่งปลูกสร้าง" ได้แก่ บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด ตึกแถวสำหรับอยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนใช้ รวมถึงกำแพง รั้ว ประตู และส่วนปรับปรุงต่อเติม ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม
บางแพ็คเกจประกันภัยจะครอบคลุมถึง "ของในบ้าน" เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องมือ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัยอื่นๆ ฯลฯ
ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันสำหรับที่อยู่อาศัย
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ให้คำแนะนำในการซื้อประกันภัยบ้าน สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองในสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้
- การทำประกันภัยบ้าน หากเลือกความคุ้มครองหรือเงินชดเชยได้ ควรเลือกอย่างต่ำ 70% ของมูลค่าสินทรัพย์ เพื่อให้ครอบคลุมค่าเสียหายส่วนใหญ่ได้ เช่น ประทำประกันอัคคีภัย
- เบี้ยประกันต่อปีจะถูกลงตามระยะเวลาเอาประกันที่ทำนานขึ้น
- เมื่อได้รับเงินชดเชยจากความสูญเสียแรกแล้ว หากเกิดเหตุในระยะเวลาเอาประกันอีกครั้ง จะได้รับเงินชดเชยจากการประเมินความสูญเสียในจำนวนเงินเอาประกันที่เหลืออยู่
- หากทำประกันมากกว่าหนึ่งประกัน เมื่อเกิดความสูญเสียประกันแต่ละบริษัท/แต่ละประกัน จะหารความรับผิด (ผู้เอาประกันจะไม่ได้เงินประกันเกินกว่าที่ประเมินความเสียหาย)
ซื้อประกันภัยพิบัติได้ที่ไหน
ผู้สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติได้จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ หากกรณีบริษัทรับประกันภัยปฏิเสธการขายกรมธรรม์ หรือการชำระค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงาน คปภ.ส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. เขต และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา: คปภ , home.co.th , DDproperty , กรุงเทพประกันภัย , ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ , bangkokbiznews , bangkokassets
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น